วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ประเพณีเมืองสุพรรณ


เจ้าพ่อหลักเมือง
เป็นพุทธปฎิมากรรมสลักบนแผ่นหินแบบนูนต่ำ (Relief) ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน ซึ่งเป็นศาสนาที่ชาวจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ทิเบต ญวน เขมร นับถือ เป็นศิลปแบบขอมเป็นรูปพระวิษณุกรรมสวมหมวกแขก ในศิลปไพรกเม็ง อายุประมาณ 1300-1400 ปีมาแล้ว มีพระนามว่าพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร หรือ พระนารายณ์สี่กร มีหน้าที่ช่วยเหลือมนุษย์ และเหล่าสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ประสพแต่ความสุขความเจริญ เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ เจ้าแม่กวนอิม ตามคำบอกเล่าต่อๆกันมา เมื่อประมาณ 150 ปีมาแล้ว มีผู้พบพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร จมดินอยู่ตรงริมศาลเจ้าพ่อ ชาวบ้านจึงช่วยกันอัญเชิญขึ้นข้างบน พร้อมกับสร้างศาลใหม่ให้เป็นที่ประทับ มีคนจีนชื่อ เฮียกงเป็นผู้ดูแลรักษาเรื่อยมาเมื่อครั้งโบราณมีคำกล่าวว่า ห้ามเจ้าไปเมืองสุพรรณจะทำให้มีอันเป็นไป เมื่อ พ.ศ. 2435 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการเมืองสุพรรณ ได้ทรงสักการะเจ้าพ่อหลักเมือง ได้ประทานทรัพท์ส่วนพระองค์สร้างศาลเพิ่มขึ้น พร้อมวางแผนให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสุพรรณ พระพุทธเจ้าหลวงทรงพระดำรัสว่า "เข้าทีดีหนักหนา แต่เขาไม่ให้เจ้าไปเมืองสุพรรณ ว่าถ้าขืนไปจะเป็นบ้าไม่ใช่หรือ" สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงกราบบังคมทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าไปมาแล้วไม่เห็นเป็นอะไร ยังรับราชการมาจนบัดนี้ พระพุทธเจ้าหลวงทรงตรัสสั้นๆว่า "ไปซิ" จากนั้นพระองค์จึงเสด็จมาเมืองสุพรรณ ในคราวเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2447 และทรงกระทำพลีกรรมเจ้าพ่อหลักเมือง และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้างเขื่อนรอบเนินศาล ทำชานไว้สำหรับคนที่บูชา สร้างกำแพงแก้ว ต่อตัวศาลเพิ่มเติมออกมา ข้างหน้าเป็นแบบเก๋งจีนปัจจุบันบริเวณศาลเจ้าพ่อหลักเมืองมีเนื้อที่ 21 ไร่เศษ โดยทั่วไปศาลหลักเมืองนั้นจะทำด้วยไม้ บนยอดจะเป็นหัวเม็ด แต่หลักเมืองของสุพรรณนี้พิเศษกว่าหลักเมืองทั่วไปคือ จะเป็นหินและมีพุทธปฎิมากรอยู่ด้วย

งานทิ้งกระจาด
เป็นพิธีกรรมของชาวพุทธศาสนาลัทธิมหายาน และได้จัดติดต่อกันมาไม่น้อยกว่า 100 ปีมาแล้ว เมื่อครั้งพุทธกาลที่พระอานนท์กำลังบำเพ็ญสมาธิปรเวกธรรม อยู่ที่นิโครธาราม เมืองกบิลพัสดุ์ ได้มีอสูรกายตนหนึ่งได้แสดงร่างเป็นเปรต แล้วกล่าวกับพระอานนท์ว่า อีกสามวันพระพุทธเจ้าจะสิ้นพระชนม์ พระอานนท์จึงถามว่าจะแก้ไขได้อย่างไร เปตรตอบว่าจะต้องทำพิธีอุทิศเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นไทยทาน พระองค์จึงจะอยู่รอด และจะมีพระชนมายุยืนนานอีกด้วย พระอานนท์จึงทูลให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ และทรงโปรดให้ประกอบพิธีเมตตาธรรม ด้วยการโปรยทาน งานบุญทิ้งกระจาดจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้โดยเริ่มกลางเดือน 7 ของจีน แต่จะตรงกับเดือน 9 ของไทยทางจันทรคติ เป็นเวลา 5 วัน 5 คืน พอวันที่ 3 จะเป็นวันทิ้งกระจาดฟ้า โดยจะมีการทิ้งสิ่งของหรือไม้ติ้ว ที่มีหมายเลขเขียนไว้จากที่สูงลงมา ผู้ที่มาชมงานถ้าใครรับไม้ติ้วได้หมายเลขไดก็นำไปรับสิ่งของตามหมายเลขนั้น ซึ่งมีค่ามากน้อยลดลดหลั่นกันแล้วแต่โชค ส่วนงานทิ้งกระจาดดิน จะต่างกับการทิ้งกระจาดฟ้าตรงที่ของนั้นจะทิ้งไว้บนพื้นดิน เพราะถือว่าการทิ้งการจาดดิน เป็นการทิ้งทานให้แก่พวกภูตผีปีศาจทั้งหลายในวันแรกของงานทิ้งกระจาดจะมีขบวนแห่ที่สวยงาม มีความยาวและยิ่งใหญ่กว่างานใดๆในจังหวัด มีขบวนเชิดสิงโต มังกร ขบวนธงทิว โดยสาวงามจากท้องถิ่นต่างๆในจังหวัด มีชุดฟ้อนรำลำกลองยาว ล่อโก๊ว ที่สำคัญคือมีขบวนหาบสิ่งของเพื่อไปอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมือง โดยนำมาเพียงกระถางธูปแทนเท่านั้น จากนั้นก็นำมายังสถานพิธีที่สมาคมจีน จะมีการออกร้าน แสดงสิ้นค้า และมหรสพต่างๆ โดยเฉพาะงิ้ว

สำเนียงเสียง "เหน่อ"
จุดเด่นของความเป็นคนสุพรรณ เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นสำเนียงพูด คนสุพรรณไปอยู่ที่ใหนก็ตาม ผู้คนทั่วไปจะรู้ได้ไม่ยากนัก จากสำเนียงเสียง "เหน่อ" แต่...ช่างน่าเศร้าใจ ที่คนทั่วไปมักจะเห็นว่าสำเนียงเสียงเหน่อของคนสุพรรณนั้น ฟังแล้วชวนขบขัน เขาหาว่าคนสุพรรณบ้านนอก โง่ เซ่อ เฉิ่ม เชย เลยได้เป็นแค่คนรับใช้ในหนังในละครเสียงเหน่อของคนสุพรรณนั้น นักวิชาการระบุว่าน่าจะเป็นสำเนียงหลวง เป็นสำเนียงดั้งเดิมของคนไทย เพราะเจ้าเมืองสุพรรณเคยเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา ได้อพยพผู้คนจากสุพรรณบุรี ไปอยู่ที่ราชธานีศรีอยุธยาด้าย ภาษาที่ใช้ในราชสำนักสมัยนั้น จึงน่าจะเป็นภาษาที่คนสุพรรณพูดจาอยู่เดิม เมื่อสิ้นอยุธยา ราชธานีย้ายมาอยู่ที่กรุงธนบุรีและพระนคร ก็มีคนจีนจำนวนมากมาตั้งหลักแหล่งทำมาค้าขายกัน ทำให้ภาษาคนกรุงที่เคยเป็นสำเนียงสุพรรณก็เพี้ยนผันปนกับสำเนียงจีน กลายเป็นสำเนียงคนบางกอกไปเสียงเหน่อสุพรรณที่ยังฝังแน่นกับคนพื้นถิ่น บางคนหาว่าน่าขบขัน แท้จริงนั้นเป็นสำเนียงของความเป็นไทย เป็นเสน่ห์เป็นความจริงใจ ที่จะไม่ลบเลือนไปจากหัวใจ และวิถีของคนสุพรรณจากหนังสือ แล....ล่อง ท่องสุพรรณ
ีเพลงพื้นบ้าน
สุพรรณบุรี มีเพลงพื้นบ้านที่ร้องเล่นกันมาแต่สมัยโบราณ เช่น เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงอีแซว ด้วยสุพรรณบุรีเป็นเมืองเกษตรแต่ดั้งเดิม อาชีพหลักคือการทำนา และประเพณีสำคัญที่ชาวสุพรรณรู้จักดี ก็คือประเพณี "ลงแขกเกี่ยวข้าว" คนสุพรรณเป็นคนที่มีนิสัยรื่นเริงชอบความสนุกสนาน เมื่อออกแรงทำนาเกี่ยวข้าว ก็จะหาอะไรที่สนุกเล่น แก้เหนื่อย ทำให้เกิดความคึกคัก ในระหว่างทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดเพลงพื้นบ้านขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำ เพลงสงฟาง คนสุพรรณเล่นเพลงเหล่านี้มา ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวดสืบต่อกันมา และขยายเป็นแหล่งชุมเพลงใหญ่ของประเทศ การเล่นเพลงพื้นบ้านนั้น ไม่ได้เล่นแค่คนสองคน แต่เล่นกันเป็นหมู่คณะ คนใหนเก่งก็เป็นพ่อเพลง แม่เพลง เก่งน้อยหน่อยว่าเองไม่ได้ ก็เป็นลูกคู่คอยกระทุ้ง บางคนก็คอยเคาะจังหวะ ตีเกราะ เคาะไม้ ตามสนุกพวกที่ร้องเล่นไม่ได้ ก็นั่งฟังหรือกระโดดโลดเต้นไปตามจังหวะด้วยเหตที่คนสุพรรณมีวิถีชีวิตใกล้ชิดอยู่กับเพลงพื้นบ้าน ทำให้เพลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจิตวิญญาน ของคนสุพรรณเกือบทุกคน ทำให้เกิดศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินแห่งชาติ และศิลปินที่มีชื่อเเสียงมากมายครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ปี 2528แม่บัวผัน จันทร์ศรี ศิลปินแห่งชาติ(เพลงพื้นบ้าน) ปี2533ครูแจ้ง คล้ายสีทอง ศิลปินแห่งชาติ ปี 2537แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ศิลปินแห่งชาติ (เพลงพื้นบ้านแห่งยุค) ปี 2539ครูไวพจน์ เพชรสุพรรณ ศิลปินแห่งชาติ (ยอดศิลปินเพลงแหล่) ปี 2540

มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)

เกิดที่บ้านท้ายน้ำตก ริมแม่น้ำด้านใต้ตัวเมืองสุพรรณบุรี ศึกษาเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรมจนได้เปรียญ และได้เป็นครูในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ต่อมาได้โดยเสด็จพระเจ้าลูกเธอ 4 พระองค์ ในพรธเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ออกไปทรงศึกษา ณ ต่างประเทศ ท่านได้ใช้เวลาว่างในการศึกษาภาษาอังกฤษ และมีโอกาสตามเสด็จในการไปศึกษาดูงานในที่ต่างๆ จนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นผู้ช่วยเลขานุการฑูตสยาม ณ กรุงลอนดอน และเป็นพระวิจิตรวรสาส์นเลขานุการฑูตไทย ประเทศสหรัฐอเมริกาในเวลาต่อมา เมื่อกลับมาประเทศไทยท่านได้รับราชการในกระทรวงมหาดไทย เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชเป็นคนแรก ในตำแหน่งพระยาสุขุมนัยพินิต ได้พัฒนาปรับปรุงระเบียบการปกครองเจ็ดหัวเมืองภาคใต้เป็นอย่างดี จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเสนาบดี กระทรวงโยธาธิการ และเสนาบดีกระทรวงนครบาล ตามลำดับ ผลงานของท่านที่กลับมารับราชการในส่วนกลางนั้น เป็นที่น่าประหลาดใจในความสามารถของท่านเป็นอย่างยิ่ง จากเด็กวัดชาวสุพรรณบุรี สู่การเป็นครู และฑูตสันถวไมตรี ท่านกลับมีความสามารถในการก่อสร้างอย่างน่าอัศจรรย์ ท่านเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างประปาพระนคร ไฟฟ้านครหลวง ผู้อำนวยการสร้างถนน สะพานทุกแห่ง ร่วมทั้งพระที่นั่งอนันตสมาคมอันสง่างาม จนได้รับการพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยายมราช ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คุณงามความดีและความรับผิดชอบในการปฎิบัติราชการด้วยความซื่อตรง อุตสาหะ ของท่านเจ้าพระยายมราช ทำให้ท่านก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสูงสุดในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และอยู่ในตำแหน่งนี้จนถึงแก่อนิจกรรม ปัจจุบันสถานที่ซึ่งยังเป็นอนุสรณ์อยู่ก็คือ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช และบ้านเรือนไม้หลังเก่าที่สร้างอยู่ในบริเวณบ้านเดิมของท่านด้านข้างโรงพยาบาล

สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณณศิริ)

ชาวสุพรรณผู้มีคุณูปการ และสร้างชื่อเสียงเกียรติภูมิให็กับถิ่นฐานบ้านเกิดของท่าน ที่เป็นพระสังฆราชา จนได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์สูงสุด ถึงสมเด็จพระสังฆราช คือสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาปรินายก องที่ 17 (ปุ่น สุขเจริญ) สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น) ประสูติที่ตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ทรงศึกษาปริยัติธรรม ได้เปรียญธรรม 6 ประโยค และยังมีความรู้ด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีนอีกด้วย ท่านเป็นพระภิกษุที่ชอบศึกษาค้นคว้า ชอบฟังปาฐกถา จนมีความรู้กว้างขวาง และมีความสามารถด้านการประพันธ์ ปรากฎผลงานมากมาย เช่น หนี้กรรมหนี้เวร พุทธชยันตี ลิขิตสมเด็จ และยังเป็นองค์เทศนา (ปฎิภาณ) ที่เป็นเยี่ยม ทรงได้รับการสถาปนา เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาน สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาปริณายก องค์ที่ 17 เจ้าอาวาสวัดเชตุพนวิมลมังคลาราม และอยู่ในพระสมณศักดิ์นี้จนสิ้นพรธชนม์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2516 อนุสรณ์สถานที่ชาวสุพรรณยังระลึกถึง พระคุณของท่านจวบจนทุกวันนี้คือ การสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 ขึ้น ที่บ้านเกิดของท่าน คืออำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี


เมืองโบราณอู่ทอง

ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจระเข้สามพัน ลักษณะเป็นรูปวงรีขนาด 1,850x820 เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ทิตตะวันตกเป็นเทือกเขารางกะปิด เขาคำเทียมและเขาพระ ทิศตะวันออกเป็นที่ราบกักเก็บน้ำ นอกเมืองมีแนวคันดินเป็นถนนโบราณ เรียกว่า ถนนท้าวอู่ทอง และแนวคันดินรูปเกือกม้า เรียกว่า คอกช้างดิน คงจะเป็นเพนียดคล้องช้างโบราณ หรือสระเก็บน้ำในศาสนาพราหมณ์ เมืองโบราณแห่งนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยของชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุราว 2500-2000 ปีมาแล้ว ได้พบ เครื่องมือหินขัด ภาชนะดินเผา แวปั่นด้ายดินเผา เป็นต้น ต่อมาได้พัฒนาตนเองสู่สังคมเมืองสมัยประวัติศาสตร์ ทำการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ ในราวพุทธศตวรรษที่ 5-9 เช่น เวียดนาม จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป มีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางการค้า และเมืองท่าร่วมสมัยกับเมืองออกแก้ว ของประเทศเวียดนาม ได้พบลูกปัดแก้ว และเหรียญกษาปณ์ เหรียญโรมันสมัยจักรพรรดิวิคโตรินุส เป็นต้น ได้รับรูปแบบทางศาสนา ศิลปกรรมแบบอมราวดีจากอินเดีย ได้พบประติมากรรมดินเผารูปพระสงฆ์ 3 องค์อุ้มบาตร และพระพุทธรูปปูนปั้นนาคปรกศิลปะแบบอมราวดี เป็นต้นศาสตราจารย์ชอง บวสเซอริเยร์ เชื่อว่าเมืองอู่ทองน่าจะเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรสุวรรณภูมิ ที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ส่งพระสมณฑูต เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา เมื่อ พ.ศ. 270-พ.ศ. 311 นายพอล วิทลีย์ เชื่อว่าเมืองจินหลิน ตั้งอยู่ที่เมืองอู่ทอง เป็นรัฐสุดท้ายที่พระเจ้าฟันมัน แห่งอาณาจักรฟูนันปราบได้ ในพุทธศตวรรษที่ 9 เมื่ออาณาจักรฟูนันล่มสลายลง ในปลายพุทธศตวรรษที่ 11 รัฐทวารวดีได้เจริญขึ้นมาแทนที่ ในรุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง และรุ่งเรืองสูงสุดในราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 บันทึกของพระภิกษุเหี้ยนจัง ได้กล่าวถึงอาณาจักรโตโปตี้ หมายถึงทวารวดี ได้พบเหรียญเงินจารึกว่า “ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ” ยืนยันการมีตัวตนของอาณาจักรทวารวดี มีเมืองอู่ทองเป็นเมืองหลวง และศูนย์กลางทางศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และวัฒนธรรมทวารวดี ประชาชนนับถือศาสนาพุทธลัทธิเถรวาทเป็นหลัก ใช้ภาษามอญ ยึดถือคติทางศาสนา รูปแบบศิลปคุปตะจากอินเดีย โบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่พบในเมืองอู่ทอง เป็นศิลปกรรมสมัยทวารวดี เช่น เจดีย์เศียรพระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปปางประทานธรรม ธรรมจักร ในขณะเดียวกันศิลปศรีวิชัยซึ่งนับถือพุทธศาสนาลัทธิมหายานได้เผยแพร่เข้ามา ได้พบพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร และพระโพธิสัตว์ปัทมปาณิ เป็นต้น เมืองอู่ทองได้หมดความสำคัญ และร้างไปในราว พุทธศตวรรษที่ 16 จึงรอดพ้นจากอิธิพลเขมรในราวพุทธศตวรรษที่ 16 (สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7) โดยปรากฎเมืองโบราณสุพรรณบุรีเจริญขึ้นมาแทนที่
จากเอกสาร สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 2 สุพรรณบุรี


ขุนช้าง-ขุนแผน
เป็นวรรณกรรมอมตะไทยมาช้านาน ตามประวัติกล่าวว่านักขับเสภาครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้แต่ง ( เสภาคือหนังสือกลอนโบราณ ที่นำเอานิทานมาแต่งเป็นกลอนสำหรับขับลำนำ ) แต่เหลือมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์บางตอน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 จึงโปรดให้เหล่ากวีในพระราชสำนักแต่งขึ้นใหม่ รวมทั้งพระองค์ท่านเองทรงพระราชนิพนธ์ ตอน "พลายแก้วเป็นชู้กับนางพิมพ์" ตอน "ขุนแผนขึ้นเรือนขุนช้าง" และตอน "เข้าห้องแก้วกิริยาและพาวันทองหนี" รัชกาลที่ 3 ทรงพระราชนิพนธ์ตอน "ขุนช้างตามวันทอง" บรมครูสุนทรภู่แต่งตอน "กำเนิดพลายงาม" ต่อมาครูแจ้งในรัชกาลที่ 4 แต่งตอน "กำเนิดกุมารทอง" ตอน "ขุนแผน พลายงามแก้พระท้ายน้ำ" และตอน "ขุนแผน พลายงามสะกดเจ้าเมืองเชียงใหม่" ที่มาของเรื่อง กล่าวกันว่าเป็นจริงตามนิทานพื้นบ้าน เกิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2034 -2072 สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ถูกสมมุติพระนามในเสภาว่า "พระพันวษา" เนื้อเรื่องเอาเกร็ดประวัติศาสตร์ตอนไทยทำสงครามกับเชียงใหม่และล้านช้าง แล้วเอามาผูกเข้ากับวิถีชีวิตของชาวเมืองสุพรรณและกาญจนบุรี โดยเฉพาะการชิงรักหักสวาทของ 1 หญิง 2 ชาย คือ นางพิมพิลาลัยหรือนางวันทอง ขุนแผนหรือพลายแก้ว และขุนช้าง อรรถรสทางด้านภาษาและเนื้อหา เป็นวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนยุคสมัยนั้น จนเป็นวรรณกรรมอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

เรื่องย่อ
เรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นเรื่องจริง ตามหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า กล่าวว่า มีกษัตริย์ใน สมัยกรุงศรีอยุธยาพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า พระพันวษา ครั้งหนึ่งเกิดสงครามกับนครเชียงใหม่ เนื่องจากพระเจ้าโพธิสารราชกุมาร เจ้าเมืองเชียงใหม่ ไม่ชอบที่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตลานช้าง มาเป็นมิตรกับอยุธยา จึงยกทัพมาแย่งชิงพระธิดาแห่งลานช้างไป พระพันวษาทรงพระพิโรธ จึงมีราชโองการสั่งให้เตรียมทัพและตรัสกับพระหมื่นศรีมหาดเล็ก ให้เลือกทหารที่มีฝีมือมารบ ซึ่งในบัดนั้นผู้ที่จะเก่งกล้าเกินกว่าขุนแผนนั้นไม่มี แต่พระหมื่นศรีมหาดเล็กทูลพระพันวษาว่า ขุนแผนยังอยู่ในคุก พระพันวษาก็ทรงระลึกได้ถึงขุนแผน จึงทรงพระกรุณาโปรดให้ขุนแผนพ้นโทษโดยเร็ว และแต่งตั้งขุนแผนเป็นแม่ทัพออกรบ ก่อนที่ขุนแผนจะออกรบได้แวะที่เมืองพิจิตร เพื่อรับดาบและม้าวิเศษประจำตัวขุนแผน (ดาบฟ้าฟื้นและม้าสีหมอก) ที่ฝากไว้กับพระพิจิตร และขุนแผนก็สามารถตีกองทัพเชียงใหม่จนแตกพ่าย ในคำให้การชาวกรุงเก่า มีเรื่องขุนช้างขุนแผนปรากฏอยู่เท่านี้ เห็นได้ว่าไม่ตรงกับเรื่องขุนช้างขุนแผนที่เราขับเสภากันอยู่ เพราะเรื่องนี้นำมาเล่าเป็นนิทานนานมาแล้วและยังแต่งเป็นกลอนเสภาอีก สันนิษฐานได้ว่าคงมีการตกแต่งเรื่องให้แปลกสนุกสนานและยาวยิ่งขึ้น
ตำนานรัก ขุนช้าง ขุนแผนและนางพิมขุนแผนบุตรชายของขุนไกร พลพ่าย ผู้เก่งกล้าอาศัยอยู่ที่บ้านย่านวัดตระไกร มีเพื่อนในวัยเด็กที่มาเล่นด้วยกันเสมอ คือขุนช้างและนางพิม จนกระทั้งขุนไกรถูกพระพันวษาประหารชีวิต เพราะไม่สามารถสกัดควายป่าไว้ได้ นางทองประศรีผู้มารดาจึงพาขุนแผนไปอยู่เมืองกาญจนบุรี และได้บวชเป็นสามเณรที่วัดส้มใหญ่ เล่าเรียนวิชาจนหมดความรู้ของพระอาจารย์ นางทองประศรีจึงนำมาฝากกับสมภารมีที่วัดป่าเลไลก์ เมืองสุพรรณ ขุนแผนมีความสามารถในการเทศน์มหาชาติกัณฑ์มัทรีได้ไพเราะจับใจ ในวันออกพรรษาสามเณรพลายแก้วได้ขึ้นเทศน์และเทศน์ได้ไพเราะนัก นางพิมก็เกิดศัทธา เปลื้องผ้าห่มสไบออกแทนเครื่องบูชากัณฑ์ ขุนช้างเห็นก็เปลื้องผ้าห่มของตน วางทับผ้านางพิมพ์ แล้วอธิษฐานให้ได้เจ้าของผ้าห่มสไบ ค่ำวันนั้นหัวใจของพลายแก้วและขุนช้างต่างก็ร้อนรุ่มด้วยความรักที่มีต่อนางพิม ฝ่ายขุนช้างแม้รูปชั่วหัวล้าน แต่ร่ำรวยได้ไปขอนางพิม นางสายทองเห็นดังนั้นจึงนำความไปบอกสามเณรพลายแก้วที่วัดป่า สามเณรยามอยู่ลำพังกับนางสายทองก็อดพูดจาหยอกเอินกับนางไม่ได้ ทราบถึงสมภารมี จึงได้ไล่พรายแก้วออกจากวัด สามเณรจึงไปอาศัยอยู่กับสมภารคงที่วัดแค และได้เล่าเรียนวิชาคาถาอาคม เสกใบมะขามเป็นตัวต่อ สะเดาะโซ่ตรวนกุญแจ ล่องหนหายตัว อยู่ยงคงกระพัน และได้แอบเข้าไปลักลอบได้เสียกับนางพิมพ์ ต่อมาพลายแก้วได้ไปเป็นทหาร และกลับมาพร้อมเมียใหม่ ทำให้นางพิมโกรธและเสียใจ ในขณะที่ขุนช้างก็ยังใช้เล่ห์เพื่อที่จะได้นางพิมมาเป็นเมีย จนในที่สุดนางพิมก็ตกเป็นเมียขุนช้าง ขุนแผนจึงนำเรื่องไปให้พระพันวษาตัดสินความ เมื่อสมเด็จพระพันวษา ตรัสถามว่าจะอยู่กับใคร นางก็ไม่อาจตัดสินใจได้ ขุนแผนนั้นแม้จะรักมาก แต่ก็ทำให้นางทุกข์ยากด้วยรักมานักหนา ขุนช้างนั้นน่าเบื่อระอา แต่ก็รักนางอย่างจริงใจ นางจึงตอบไปว่า แล้วแต่ทรงพระกรุณา สมเด็จพรพพันวษาทรงกริ้ว ให้นำนางวันทองไปประหารชีวิต ชีวิตของนางพิมหรือนางวันทองนั้นไซร้ ในท้ายสุดก็ไม่อาจอยู่ร่ามกับสามีและลูกได้อย่างมีความสุข เฉกเช่นชีวิตครอบครัวชาวบ้านทั่วๆไป

ไม่มีความคิดเห็น: